ประเด็นร้อน

ความเสี่ยงคอร์รัปชัน จากคดีดัง (จบ)

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 26,2018

- - สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ - -

 

คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง  โดย : กิตติเดช ฉันทังกูล ผู้จัดการโครงการแนวร่วมปฏิบัติ ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)

 

การเข้าพื้นที่ป่าสงวนต้องขออนุญาต จากข่าวที่ปรากฏก็มีการอนุญาตจริง แต่คณะบุคคลที่เข้าไปกลับไปในพื้นหวงห้ามและแถมพกพาอาวุธปืนและอุปกรณ์ล่าสังหารทุกชนิดเข้าไป สื่อทำงานได้ดีที่หาข้อมูลมาได้เยอะจนพบ วิธีการขอและพิจารณาอนุญาตเข้าพื้นที่ป่าช่างง่ายดาย ให้คนรู้จักโทรศัพท์ไปขอคนมีอำนาจอนุมัติก็ได้แล้ว ตรงนี้เกิดจากข้อบกพร่องในขั้นตอนการทำงานอนุญาตเข้าพื้นที่ป่าสงวน ลองพิจารณาดูทางกลับกันถ้ากรมจัดเก็บฐานข้อมูลคนที่ขออนุญาตเข้าพื้นที่ป่าสงวน จะช่วยให้การตรวจสอบประวัติคนขอได้ง่ายขึ้นหรือไม่ กรมสามารถสืบค้นว่าคนนี้เคยขอเข้าพื้นที่กี่ครั้ง แต่ละครั้งมาทำอะไร ฯลฯ และถ้าเปิดเผยข้อมูลพวกนี้ให้คนทั่วไปเข้ามาดูได้ เจ้าหน้าที่อาจได้รับเบาะแสมากขึ้น และช่วยให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับทำงานง่ายขึ้น

 

ต่อมาคือ การทำหน้าที่ คือเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมพร้อมของกลางในป่า เจ้าหน้าที่ชุดแรกทำได้แค่จับกุมและรวบรวมหลักฐานส่งต่อไปให้อีกหน่วยงานดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงออกมาให้ข่าวที่สร้างความฉงนให้กับสังคมว่าจะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของใครกันแน่ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อหน่วยงาน การทำหน้าที่ลักษณะนี้จำเป็นต้องระมัดระวังการให้ข้อมูลหรือตอบคำถาม ที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมพร้อมหลักฐานและมีภาพปรากฏไป ทั่ว เพราะสังคมเห็นบทเรียนมาหลายคดีที่คนลักษณะเดียวกันนี้มักหลุดรอดการลงโทษ ด้วยวิธีเชิงเทคนิคข้อกฎหมายและช่องโหว่ในบางขั้นบางตอนของการรวบรวมพยานหลักฐาน การทำสำนวน ของเจ้าหน้าที่ก่อนจะไปถึงการพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งคงหลีกหนีการตั้งข้อสงสัยของสังคมไม่ได้ คำถามนี้สังคมเริ่มตระหนักดีว่าจะปล่อยให้เกิดขึ้นกับคดีฆ่าเสือดำไม่ได้

 

ในคดีคนกรุงอย่างเรื่องขวานวิเศษของป้าจามรถส่งผลถึงการรื้อตลาด สื่อเริ่มทำงานเชิงขุดคุ้ยสืบสวนอย่างเต็มที่ ทำให้มีข้อมูลที่น่าประหลาดใจ สู่สังคม จนให้เห็นความแปลกประหลาดของการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบการออกใบอนุญาตตลาดปล่อยให้มีการตั้งตลาดโดยไม่มีใบอนุญาต จนมาเจออิทธิฤทธิ์ขวานนี่เอง เรื่องจึงแดงขึ้นมา ตรงนี้น่าสงสัยมากสุด ว่าทำไมเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่จึงไม่ทำอะไรเลยหรือ? หรือถ้าพยายามจะรื้อตลาดผิดกฎหมายจริงแต่ทำได้ช้าเป็น 10 ปี เกิดจากอุปสรรคอะไรกัน หรือ ท่านเคยได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบตลาดบ้างหรือไม่ ถ้าไม่เคยยิ่งน่าแปลกใจ หรือถ้าเคยได้รับแล้วดำเนินการอะไรบ้างทำไมตลาดยังเปิดได้

 

ต่อมาสื่อบางสำนักค้นข้อมูลพบว่าเจ้าของตลาดตัวจริงเปิดบริษัทและได้ยื่นงบการเงินเพื่อเสียภาษีด้วยจำนวนตัวเลขที่ผู้ถือหุ้นและกรรมการคนอื่นน่าจะตกใจ เพราะรายได้แต่ละปีมีแค่หลักสิบหลักร้อยบาท แถมแจ้งว่าขาดทุนแต่ละปีเป็นหลักพัน แบบนี้หุ้นส่วนใหญ่ยังไว้ใจให้บริหารงานต่อ ส่วนหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เก็บภาษีกลับไม่เคยสงสัยงบการเงินบริษัทที่เป็นเจ้าของตลาดเลย หรือตอบนักข่าวว่าบริษัททำถูกต้องตามกฎหมาย เจอคำอธิบายเจ้าหน้าที่รัฐแบบนี้ยิ่งหนักใจ เพราะสวนทางกับข้อมูลที่สื่อมวลชนลองตรวจสอบพบว่าค่าเช่าหนึ่งแผงต่อวันก็ 100 บาทแล้ว คูณไปมาประมาณว่าตลาดหนึ่งแห่งมีรายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาทต่อปี

 

บทเรียนจากคดีนี้สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการออกใบอนุญาตตั้งตลาด การตรวจสอบตลาดที่จัดตั้งในพื้นที่ต่างๆ มีข้อบกพร่องมาก สาเหตุอาจ มาจากหลายเรื่อง ตั้งแต่ให้อำนาจอนุมัติผูกขาดโดยตำแหน่งเดียว ขาดการตรวจสอบจากฝ่ายงานอื่นๆ ขาดการประเมินและติดตามการประกอบธุรกิจของตลาดที่รับอนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาตอย่างจริงจัง ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งส่วนของคนรับผิดชอบดูแลตลาดต่อสังคม การแจ้งเบาะแสตลาดเถื่อนมีเข้ามาที่หน่วยงานหรือไม่ แม้จะมีข่าวผู้บริหารสูงสุดสั่งตรวจสอบทั่วกรุงเทพฯ แล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อกับตลาดที่มีใบอนุญาตแต่ตกมาตรฐานด้านสุขอนามัยกับตลาดเถื่อนจะจัดการให้เสร็จเมื่อไร ฯลฯ คำถามที่ตามมาจากคดียังมีอีกมากที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำความกระจ่างและปรับปรุงขั้นตอน การทำงานให้รัดกุม สร้างการถ่วงดุลอำนาจและเปิดช่องทางให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่ร่วมตรวจสอบ แจ้งเบาะแสได้ ส่วนเรื่องบริษัทเจ้าของตลาดเถื่อนคงต้องช่วยกันดูว่ามีการตรวจสอบภาษีย้อนหลังได้หรือไม่ หรือมีมาตรการอะไรมาจัดการ

 

ส่วนเรื่องสุดท้าย โกงเงินสงเคราะห์คนจน อันนี้มีบทเรียนน่าสนใจจากการเปิดเผยข้อมูลของน้องแบม นักศึกษาฝึกงานที่ค้นพบการปลอมหลักฐานเบิกเงินเท็จ แต่ที่ปรากฏข่าว การเร่งนำชื่อผู้แจ้งเบาะแสออกสื่อด้วยความหวังดี ต้องการสดุดีวีรกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ดีที่เข้าใจได้ แต่ควรพิจารณาจังหวะเวลาการสดุดีนั้นให้รอบคอบว่าจะส่งผลต่อความปลอดภัยของคนแจ้งหรือไม่ และถ้าให้ดีหน่วยงานหรือองค์กรที่ดูแลงานรับแจ้งเบาะแสทุจริตคอร์รัปชั่น ควรใช้โอกาสนี้ให้ความรู้คนทั่วไปทราบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อพบเบาะแสการทุจริต และแจ้งมายังช่องทางที่ปลอดภัย

 

สรุป การยกกรณีทั้ง 4 คดีนี้มาวิเคราะห์นั้นจะทำให้เราเกิดความ เข้าใจมากขึ้นว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพวกนี้ต่างเกิดขึ้นจากช่องโหว่ของการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต้องพัฒนาปรับปรุงการทำงานในเรื่องต่างๆ ให้รัดกุม มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้หัวใจสำคัญของการสร้างระบบควบคุมภายในเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคนที่อยู่ในตำแหน่งที่ใช้อำนาจตามกฎหมายจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจสอบกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากภายในและภายนอกหน่วยงานได้ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานในเรื่องต่างๆ ไปสู่สังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยให้รัฐทำงานได้อย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส จะสอดรับกับการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทย

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw